กฟผ.จัดสัมมนาสื่อมวลชนภาคใต้ “สถานการณ์พลังงานไฟฟ้าอันดามัน” |
กฟผ.จัดสัมมนาเครือข่ายสื่อมวลชนภาคใต้ เรื่อง “สถานการณ์พลังงานไฟฟ้าอันดามัน” เพื่อให้ข้อมูลด้านภารกิจของ กฟผ. ระบบส่งไฟฟ้า และสัดส่วนของการใช้เชื้อเพลิงในการผลัดพลังงานไฟฟ้าของประเทศอย่างถูกต้อง รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมุมมองข้อเสนอแนะด้านพลังงานจากสื่อมวล ปิดท้ายด้วยกิจกรรมกีฬาสานสัมพันธ์สื่อมวลชน – กฟผ.
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 นายวรพจน์ อินทร์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาสื่อมวลชนภาคใต้ ประกอบด้วยสื่อมวลชนจาก จ.กระบี่ จ.พังงา และจ.ภูเก็ต เรื่อง “สถานการณ์พลังงานไฟฟ้าอันดามัน” และกิจกรรมกีฬาสานสัมพันธ์สื่อมวลชน – กฟผ. โดยมีสื่อมวลชนภาคใต้และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานกว่า 100 คน ณ ฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ จ.กระบี่
นายวรพจน์ อินทร์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ กฟผ. เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้สร้างความเข้าใจภารกิจของ กฟผ. ในภาพรวมและสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะการดูแลรักษาระบบส่งไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เพื่อให้เกิดความมั่นคงสูงสุด โดยจัดการสัมมนาเรื่อง “สถานการณ์พลังงานไฟฟ้าอันดามัน” โดยมีทั้งการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงจาก กฟผ. และรับทราบมุมมองของสื่อมวลชน อันเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันภายใต้บรรยากาศของความเป็นกันเองไปพร้อมๆ กันด้วย ปิดท้ายด้วยกิจกรรมกีฬาสานสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชน – กฟผ. ด้วยความสนุกสนาน
กฟผ. ภาคใต้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเครือข่ายสื่อมวลชนทุกแขนง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสื่อมวลชนได้เผยแพร่ข่าวสารของ กฟผ. ด้วยดีมาโดยตลอด ทั้งในภาวะปกติและในช่วงที่ กฟผ. มีเหตุการณ์วิกฤติ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจไปสู่ประชาชน ตลอดจนการเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ และตระหนักถึงถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ที่จำเป็นต้องมีแหล่งผลิตไฟฟ้าในพื้นที่เอง เนื่องจากปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้มีปริมาณน้อยกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้มีปริมาณน้อยกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ซึ่ง กฟผ. ได้มีการวางแผนเพื่อพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าและขยายระบบส่งให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวตลอดจนต้องมีการกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังงานหมุนเวียนต่างๆ รวมทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศด้วย
“กฟผ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สื่อมวลชนทุกท่านจะได้นำความรู้ความเข้าใจที่ได้รับจากการสัมมนาครั้งนี้ไปเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หากเกิดเหตุการณ์ด้านพลังงานไฟฟ้าในแง่มุมใดก็ตาม สื่อมวลชนทุกท่านจะได้ให้โอกาส กฟผ. ชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อสงสัยต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง ขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่านที่ให้ความร่วมมือกับ กฟผ. ด้วยดีมาโดยตลอด” ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ กล่าว
ด้านนายวิชัย สิมะธัมนันท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างระบบส่ง กฟผ. กล่าวถึงการประชุมรับฟังความคิดเห็นและชี้แจงโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2 – ภูเก็ต 3 ว่า กฟผ.และประชาชนมีความเห็นร่วมกันในการดำเนินงานระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฏร์ธานี 2 – ภูเก็ต 3 จากจังหวังพังงามายังจังหวัดภูเก็ต กฟผ. จะก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าดังกล่าวในแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 กิโลโวลต์ พังงา 2 – ภูเก็ต 3 ออก และก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2 – ภูเก็ต 3 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 เพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดภูเก็ต ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2 – ภูเก็ต 3 แยกจากสายส่ง 115 กิโลโวลต์พังงา 2 – ภูเก็ต 3 เดิมนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงไฟฟ้าในจังหวัดภูเก็ตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้และเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง และยังเป็นการเพิ่มความมั่นคงในระบบไฟฟ้าภาคใต้ในภาพรวมอีกด้วย
ในขั้นตอนต่อไป กฟผ. จะดำเนินการด้านการออกแบบวิศวกรรมระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2 – ภูเก็ต 3 อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เหมาะสมกับการก่อสร้างในแนวสายส่งไฟฟ้า 115 กิโลโวลต์ เดิมและเร่งชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนใสพื้นที่เขตเดินสายไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย ซึ่งการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเพิ่มขึ้น เนื่องจาก กฟผ. ไม่ขยายเขตเดินสายไฟฟ้าเพิ่มเติม แต่ในระหว่างงานก่อสร้างและใช้งานสายส่งไฟฟ้าชั่วคราว 230 กิโลโวลต์ พังงา 2 – ภูเก็ต 3 กฟผ. อาจต้องดูแลไม่ให้มีต้นไม้ในเขตเดินสายไฟฟ้าชั่วคราว โดยจ่ายค่าทดแทนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการตัดต้นไม้ในเขตเดินสายไฟฟ้าชั่วคราว เนื่องจากหากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองอาจส่งผลให้ต้นไม้ล้มพาดสายไฟฟ้าก่อให้เกิดไฟฟ้าดับในจังหวัดภูเก็ตได้
สำหรับข้อเสนอให้ กฟผ. ก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงใต้ดินในจังหวัดภูเก็ตนั้น นายวิชัย สิมะธัมนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใต้ดินจะสูงกว่าค่าก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าแบบเดิมกว่า 30 เท่าซึ่ง กฟผ. จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจไม่ทันต่อความจำเป็นในการตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กฟผ. ขอรับข้อเสนอแนะไปศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติมต่อไป
ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ต มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 390 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้กับขีดจำกัดที่สายส่งไฟฟ้าแรงสูงทั้ง 2 สาย เดิมของ กฟผ. ได้แก่ สายส่ง 115 กิโลโวลต์ พังงา 2 – ภูเก็ต 3 และสายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ พังงา 2 – ภูเก็ต 3 จะจ่ายได้ จำนวน 455 เมกะวัตต์ “กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงวางแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2 – ภูเก็ต 3 เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า รวมถึงตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดภูเก็ต ในระยะยาว ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ สุราษฎร์ธานี 2 – ภูเก็ต 3 แล้วเสร็จในปี 2562 จะสามารถส่งไฟฟ้ามายังจังหวัดภูเก็ตได้กว่า 2,000 เมกะวัตต์” นายวิชัย สิมะธัมนันท์ กล่าวในที่สุด
กรุณารอสักครู่ ก่อนที่ความคิดเห็นของท่านจะถูกนำขึ้นแสดง
ความคิดเห็น: คำแนะนำ: HTML จะไม่ถูกแปลง!
ความนิยม: แย่ ดี
ป้อนรหัสในกล่องข้างล่างนี้: