อธิบดีกรมเจ้าท่า ลงพื้นที่ภูเก็ต เตรียมกู้เรือฟินิกส์ |
อธิบดีกรมเจ้าท่า ลงพื้นที่ภูเก็ต เตรียมกู้เรือฟินิกส์ คาดสัปดาห์หน้ากู้เรือขึ้นมาได้ พร้อมใช้ การบริหารจัดการท่าเรือของภูเก็ต เป็นต้นแบบ phuket model นำร่อง ให้กับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ
วันนี้ (5 สิงหาคม 2561) เวลา 09.00 น. ที่บริเวณท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ติดตามความคืบหน้าการนำอุปกรณ์ในการกู้เรือลงไปติดตั้งใต้น้ำ เพื่อเตรียมการกู้เรือฟินิกส์ ซึ่งขณะนี้มีคืบหน้าแล้วกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ โดยวางแผนจะทำการกู้เรือฟินิกส์ในสัปดาห์หน้า
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวถึง แผนการกู้เรือฟินิกส์ ว่า ตามกฎหมายพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย กำหนดให้กรมเจ้าท่า ออกคำสั่งให้เจ้าของเรือ คือเรือฟินิกซ์ เป็นผู้กู้เรือ โดยกรมเจ้าท่า ได้ออกคำสั่งไปตั้งแต่หลังวันที่เรือจม เพื่อให้เจ้าของเรือเป็นผู้กู้ ทั้งนี้เจ้าของเรือได้รับทราบคำสั่งแล้วตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ทางกรมเจ้าท่า ได้ให้เวลากับเจ้าของเรือ 20 วัน ในการกู้เรือขึ้นมาให้ได้ แต่เจ้าของเรือ ได้แต่งตั้งตัวแทนขึ้นมาและแจ้งว่าจะไม่ดำเนินการกู้เรือดังกล่าว ดังนั้น เมื่อครบกำหนดและเจ้าของเรือไม่ดำเนินการกู้เรือ ทางกรมเจ้าท่า จะดำเนินการกู้เรือขึ้นมาให้ได้ โดยมีการวางแผนการกู้เรือ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม เป็นต้นมา ได้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ นักประดาน้ำ โดย 3 วันที่ผ่านมา มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ ได้ส่งนักประดาน้ำ และทีมงานประมาณ 20 คน ลงไปติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆใต้น้ำ ในการลงไปสำรวจเรือใต้น้ำพบว่า ขณะนี้มีทรายเข้าไปในเรือประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ของตัวเรือ สภาพเรือด้านท้ายยุบเสียหาย ความลึกของน้ำประมาณ 45 เมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำที่ลึกมาก ความยากคือการลงไปทำงานใต้น้ำซึ่งจะต้องใช้นักประดาน้ำที่มีความชำนาญ ขณะนี้ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ใต้น้ำได้ประมาณ 80 - 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว และคาดว่าวันนี้จะไปติดตั้งอุปกรณ์ได้นำเพิ่มเติม ซึ่งก็จะแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ ในงานใต้น้ำ
ส่วนงานต่อไปคืองานที่จะต้องนำอุปกรณ์ต่างๆเข้าไปเกี่ยวคล้องกับงานของใต้น้ำ การที่จะยกเรือขึ้นมา ต้องใช้อุปกรณ์หลักๆ 3 ชนิด คือ บอลลูน ความจุ 10,000 ลิตร ที่จะนำลงไปยกเรือใต้น้ำ และกว้าน เป็นสลิง ที่จะยกผูกติดกับเรือและยกขึ้นมา พร้อมทั้งเครนตัวใหญ่จะทำการค่อยๆยกเรือขึ้นมา ซึ่งในแผนการที่กำหนดไว้ คาดว่าสุดสัปดาห์นี้จะสามารถนำเรือขึ้นมาได้ และจะนำเรือไปขึ้นคาน เพื่อตรวจสอบต่อไปว่าเรือนั้นได้มีความสมบูรณ์ หรือไม่ อย่างไร มีการดัดแปลงเรือหรือไม่ โดยจะขึ้นคานไว้ 30 วัน ที่ ท่า รัตนชัย เพื่อตรวจสอบร่วมกัน ระหว่างกรมเจ้าท่า ตำรวจเจ้าของคดี และผู้เชี่ยวชาญ
ทั้งนี้ ในส่วนของเจ้าของเรือฟินิกซ์ ที่ไม่ดำเนินการกู้เรือและขัดคำสั่งกรมเจ้าท่า ที่ได้ออกคำสั่งให้ดำเนินการกู้เรือขึ้นมา เนื่องจากเรือที่จมนั้นอาจจะกีดขวางการเดินเรือได้ในอนาคต และอาจจะเป็นมลภาวะอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากในระยะใกล้ๆที่เรือจมอยู่ ประมาณ 100 กว่าเมตร มีแนวโขดหินปะการังอยู่ด้วย โดยเมื่อกรมเจ้าท่า ดำเนินการกู้เรือแล้วเสร็จ จะดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าใช้จ่าย ค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จากเจ้าของเรือต่อไป ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกู้เรือในครั้งนี้ประมาณ 10 ล้านบาท ที่ว่าจ้างบริษัทเอกชน 1 ราย ดำเนินการกู้เรือ
ในส่วนของการตรวจสอบเรือในจังหวัดภูเก็ต ที่มีประมาณ 400 ลำ ขณะนี้ทางกรมเจ้าท่า ได้ร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว ดำเนินการตรวจสอบเรือขนาดใหญ่ ไปแล้ว กว่า 100 ลำ ไม่ว่าจะเป็นเรือไดร์วิ่ง เรือที่บรรทุกผู้โดยสารขนาด 100 คน ซึ่งจากการตรวจสอบพบข้อบกพร่องของเรือ และกรมเจ้าท่า สั่งให้หยุดเดินเรือและให้ขึ้นคานเพื่อปรับปรุงโครงสร้างแล้ว จำนวน 2 ลำ และในขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเรือขนาดเล็ก เนื่องจากการตรวจสอบเรือปกติจะตรวจปีละ 1 ครั้งเท่านั้น แต่หากเจ้าของเรือไม่บำรุงดูแลรักษาให้ดี จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจในช่วงระหว่างปีด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นใจและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมใช้ แนวทางการบริหารจัดการท่าเรือของจังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบ นำร่อง เป็น phuket model ให้กับจังหวัดอื่นๆต่อไป.
กรุณารอสักครู่ ก่อนที่ความคิดเห็นของท่านจะถูกนำขึ้นแสดง
ความคิดเห็น: คำแนะนำ: HTML จะไม่ถูกแปลง!
ความนิยม: แย่ ดี
ป้อนรหัสในกล่องข้างล่างนี้: