เปิดตลาดสิ่งทอนราฯ สู่สากล |
ผู้ประกอบการผ้าและเครื่องกายจากนราธิวาส เปิดตลาดสิ่งทอนราฯ สู่สากล เพิ่มศักยภาพชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งบนฐานวัฒนธรรม เวลา 13.30น.วันนี้ (1 กย.61) ที่เซ็นทรัลเฟสติวัลภูเก็ต นายศักดิ์ชัยคุณานุวัฒน์ชัยเดช ปลัดจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับ
ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย ผู้ประกอบการผ้า และเครื่องแต่งกาย ที่ ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาส กระทรวงอุตสาหกรรม, สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ภูเก็ต (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด จัดงาน “Southern Fabric Passion 2018” กิจกรรมเพิ่มศักยภาพชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งบนฐานวัฒนธรรม ภายใต้โครงการ พัฒนาผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจการแข่งขัน 4.0 เพื่อเป็นเวทีในการแสดงศักยภาพและสร้างโอกาสด้านการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ SME OTOP และวิสาหกิจชุมชนประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสให้มากขึ้น โดยมีนายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อํานวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ นายวีระชัย ปราณวีระไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด หน่วยงานภาครัฐเอกชน ภาคการศึกษา และผู้ประกอบการ เข้าร่วมงาน ณ เซ็นทรัลเฟสติวัลภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ประชาชนผู้สนใจสามารถเลือกช้อปชมเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ผ้าสวยงามได้จนถึงวันที่ 4 กันยายน 2561 เวลา 10.30-22.00 น. ณ เซ็นทรัลเฟสติวัลภูเก็ต
นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดที่มีการจัดตั้งธุรกิจขนาดย่อม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดจากชนรุ่นก่อน ตลอดทั้งผลผลิตที่เกิดจากโครงการศิลปาชีพ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้ราษฎรมีอาชีพมีรายได้ จากการประกอบอาชีพด้านการทอผ้า การทำผ้าปาเต๊ะ การทำผ้าบาติก การตัดเย็บเสื้อผ้าและทำผลิตภัณฑ์จากผ้าเป็นจำนวนมาก โดยได้มีการรวมตัวของราษฎรจัดตั้งเป็นกลุ่ม กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มอาชีพอื่นๆ โดยมีวิสาหกิจชุมชนประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายในจังหวัดนราธิวาส ทั้งกลุ่มทอผ้า กลุ่มทำผ้าปาเต๊ะ กลุ่มทำผ้าบาติก กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ จำนวน 83 ราย โดยกลุ่มอาชีพ ฯ เหล่านั้น มีรายได้การประกอบกิจการมาอย่างยาวนาน ทำให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าของจังหวัดนราธิวาสมีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงจำนวนหลายกลุ่ม
จากสถานการณ์ปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการ SME OTOP และวิสาหกิจชุมชนประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายของจังหวัดนราธิวาส ยังมีจุดอ่อนและปัญหาอุปสรรคหลายประการที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างน้อย ได้แก่ ด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ล้าสมัย ขาดเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตที่เหมาะสม และขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ผู้ประกอบการขนาดย่อมและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นฐานรากของเศรษฐกิจในระดับจังหวัดอ่อนแอ ดังนั้นกิจกรรมเพิ่มศักยภาพชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งบนฐานวัฒนธรรมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจการแข่งขัน 4.0 จึงมุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการ SME OTOP และวิสาหกิจชุมชนประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายเพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสู่การพัฒนาที่เรียกว่า “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
ด้าน นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อํานวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวเสริมว่า กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการแสดงศักยภาพและสร้างโอกาสด้านการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ SME OTOP และวิสาหกิจชุมชนประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสให้มากขึ้น โดยงานในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม เพิ่มศักยภาพชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งบนฐานวัฒนธรรม ภายใต้โครงการ พัฒนาผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจการแข่งขัน 4.0 พร้อมยังเป็นการสร้างและพัฒนาบุคลากรให้เป็นนักออกแบบแฟชั่น (Designer) ให้เพียงพอ และรองรับกำลังการผลิตในอนาคต ที่สามารถแข่งขันและตอบสนองความต้องการของลูกค้าและตลาดได้ทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ รวมไปถึงการถ่ายทอดทักษะองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ SME OTOP และวิสาหกิจชุมชนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างนวัตกรรม และเพื่อสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายในเชิงนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการ อีกด้วย . สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต /ข่าว
กรุณารอสักครู่ ก่อนที่ความคิดเห็นของท่านจะถูกนำขึ้นแสดง
ความคิดเห็น: คำแนะนำ: HTML จะไม่ถูกแปลง!
ความนิยม: แย่ ดี
ป้อนรหัสในกล่องข้างล่างนี้: